7 วิชามาร (ฟอก) เขียว
หนึ่งในทิศทางและแนวโน้มเรื่อง CSR ที่สถาบันไทยพัฒน์ได้ทำการวิเคราะห์และประมวลไว้ในรายงาน 6 ทิศทาง CSR ปี 2554 ท่ามกลางการเติบโตของกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม คือ ธุรกิจที่ไม่เขียว แต่ก็ไม่อยากตกเทรนด์ จะใช้วิธีการฟอกเขียว (Green Washing) เพื่อทำให้ผู้บริโภคหรือสังคมเข้าใจไปว่าผลิตภัณฑ์ของตนหรือกระบวนการธุรกิจของตนมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพียงเพื่อวัตถุประสงค์ในการตลาดหรือการขาย
ในเมืองนอก มีผู้เรียบเรียง 7 บาปแห่งการฟอกเขียว ประกอบด้วย sin of the hidden trade-off, sin of no proof, sin of vagueness, sin of worshipping false labels, sin of irrelevance, sin of lesser of two evils, sin of fibbing (ดูเพิ่มเติมที่ http://bit.ly/the7sins) ซึ่งเป็นฉบับตะวันตกหรือเวอร์ชั่นฝรั่งเพื่อให้อินเทรนด์ (ฟอก) เขียวในกระแสโลก ผมได้เรียบเรียงวิธีการฟอกเขียวของธุรกิจในแบบไทยๆ ที่ไม่ได้แปลจากต้นฉบับเมืองนอก แต่เป็นฉบับตะวันออกหรือเวอร์ชั่นไทย ประกอบด้วย 7 วิธีมาร ดังนี้
1. แบบโป้ปดมดเท็จ เป็นการปฏิเสธความจริงที่ปรากฏ หรือสื่อสารไม่ตรงตามข้อเท็จจริง เช่น การติดฉลากรับรองคุณภาพทั้งที่มิได้มีคุณภาพตามสมอ้างหรือโดยปราศจากการตรวจสอบรับรองใดๆ การอ้างกฎหมายเพื่อปฏิเสธความรับผิดเนื่องจากขาดหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ ทั้งที่มีมูลเหตุมาจากองค์กร หรือการยกเมฆตัวเลขการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
2. แบบพูดอย่างทำอย่าง เป็นการให้คำมั่นสัญญาที่มิได้มีเจตนาจะดำเนินการจริง เช่น การลงนามในบันทึกข้อตกลง หรือให้สัตยาบัน หรือร่วมประกาศปฏิญญา แต่ไม่มีการดำเนินงานตามที่กล่าวไว้ เข้าในลักษณะวจีบรม (Lip Service)
3. แบบเจ้าเล่ห์เพทุบาย เป็นการอวดอ้างประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลการดำเนินงานด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ทั้งที่มิได้มีคุณสมบัติตามที่กล่าวอ้างจริง เช่น การเลือกตัวชี้วัดที่อ่อนกว่าเกณฑ์ การใช้วิธีกำหนดเป้าหมายที่จะบรรลุต่ำเกินจริง การเลือกบันทึกข้อมูลเฉพาะครั้งที่ได้ค่าตามต้องการ
4. แบบมารยาสาไถย เป็นการเจตนาลวงให้เข้าใจผิดไปจากความเป็นจริง เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อมได้ตามมาตรฐานหรือดีกว่าองค์กรอื่นๆ เช่น ประกาศว่าได้รับการรับรองตามมาตรฐานหรือข้อกำหนดที่อ้างอิงจาก ISO 26000 ทั้งที่มาตรฐานดังกล่าว มิใช่มาตรฐานสำหรับนำไปใช้หรือนำมาพัฒนาเป็นข้อกำหนดอ้างอิงเพื่อการรับรอง หรือการได้รับรางวัลจากเวทีหรือหน่วยงานที่ตนเองเป็นผู้ให้การสนับสนุนหรือชี้นำ
5. แบบเล่นสำนวนโวหาร เป็นความตั้งใจที่จะสื่อสารอย่างคลุมเครือ เพื่อให้เข้าใจไขว้เขวไปตามจุดมุ่งหมาย หรือทำให้หลงประเด็น เช่น ผลิตภัณฑ์นี้ประกอบด้วยสารจากธรรมชาติล้วนๆ ซึ่งในความเป็นจริง สารมีพิษ อาทิ สารหนู สารปรอท สารกันเสียฟอร์มาลดีไฮด์ (ที่มักใช้ผสมในเครื่องสำอาง แชมพู น้ำยาเคลือบเล็บ น้ำยาบ้วนปาก ยาระงับกลิ่นผ้า) ก็เป็นสารที่พบได้ตามธรรมชาติทั้งสิ้น
6. แบบต่อเติมเสริมแต่ง เป็นการขยายความหรืออวดอ้างสรรพคุณเกินจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่เพียงบางส่วน เพื่อให้เข้าใจว่ากระบวนการผลิตในธุรกิจหรือตัวผลิตภัณฑ์มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสูง หรือมีประโยชน์ต่อสุขภาพสูง เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มบำรุงสมอง เครื่องดื่มลดความอ้วน ที่อ้างส่วนประกอบของสารอาหารซึ่งสามารถได้รับจากการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มทั่วไปในปริมาณที่ไม่แตกต่างกัน
7. แบบปิดบังอำพราง เป็นการปกปิดข้อมูลหรือข้อเท็จจริงซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย หรือแสดงความจริงเพียงส่วนเดียว เพื่อจุดมุ่งหมายในการปกป้องผลประโยชน์หรือเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายขององค์กร เช่น องค์กรแสดงให้เห็นถึงการลงทุนในเทคโนโลยีระบบบำบัดของเสียที่เหนือกว่ามาตรฐาน แต่กลับมิได้บำบัดให้ได้ดีกว่าดังที่ประกาศ หรือการบิดเบือนข้อมูลในรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตลอดจนรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ปรากฏเฉพาะส่วนที่ส่งผลบวกต่อองค์กร
[Original Link]