รู้ทันผลิตภัณฑ์ (ฟอก) เขียว
จากการเติบโตของธุรกิจสีเขียว ทั้งทางด้านพลังงานทางเลือก ผลิตภัณฑ์และบริการเชิงสุขภาพ สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ได้กลายเป็นตัวแปรที่ธุรกิจต้องคำนึงถึงในการดำเนินกิจกรรมทางการตลาด ที่ต้องมีส่วนประสมของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดภาวะโลกร้อน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเรื่องหลักของ CSR ด้วยเช่นกัน
สำหรับธุรกิจที่ต้องการเกาะกระแสสีเขียว แต่ทำไม่ได้จริง หรือมิได้คำนึงถึงการปรับการใช้วัตถุดิบ การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตและบริการ หรือการดูแลผลิตภัณฑ์และกากของเสียอย่างจริงจัง จะใช้วิธีการฟอกเขียว (Green Washing) เพื่อทำให้ผู้บริโภคหรือสังคมเข้าใจไปว่าผลิตภัณฑ์ของตนหรือกระบวนการธุรกิจของตน มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพียงเพื่อวัตถุประสงค์ในการตลาดหรือการขาย แต่มิได้ทำจริง
ในฐานะผู้บริโภคจึงควรตรวจสอบ และศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์และข้อมูลองค์กรอย่างรอบคอบ ก่อนตัดสินใจซื้อ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ อาจมีราคาไม่ถูกไปกว่าผลิตภัณฑ์ในแบบปกติทั่วไป การยอมจ่ายเงินสูงขึ้น แต่กลับได้ผลิตภัณฑ์ย้อม (แมว) สีเขียว จึงเป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะการบริโภคข่าวสารอย่างระมัดระวังกับธุรกิจฟอกเขียว ที่ใช้วิธีโฆษณาชวนเชื่ออย่างแยบยล
ในเอกสาร Greenwashing Report 2010 ซึ่งจัดทำโดย TerraChoice Group ได้ทำการสำรวจผลิตภัณฑ์จำนวน 5,296 ชนิด ที่วางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ซึ่งมีข้ออ้างความเขียว (Green Claims) นับรวมกันได้ 12,061 ข้อ โดยพบว่าผลิตภัณฑ์กว่าร้อยละ 95 ที่อ้างว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้าข่ายใช้วิธีการฟอกเขียวไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ฉะนั้น ผู้บริโภคจะต้องเรียนรู้และรับมือกับธุรกิจ (ฟอก) เขียว ที่ใช้วิธีโฆษณาชวนเชื่อผลิตภัณฑ์และองค์กร ตามกระแสสิ่งแวดล้อมที่เติบโตขึ้น โดยวิธีการฟอกเขียวของธุรกิจ มีตัวอย่างเช่น
• | การติดฉลากรับรองคุณภาพทั้งที่มิได้มีคุณภาพตามสมอ้างหรือโดยปราศจากการตรวจสอบรับรองใดๆ |
• | การโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์ประกอบด้วยสารจากธรรมชาติล้วนๆ ซึ่งในความเป็นจริง สารมีพิษ อาทิ สารหนู สารปรอท สารกันเสียฟอร์มาลดีไฮด์ (ที่มักใช้ผสมในเครื่องสำอาง แชมพู น้ำยาเคลือบเล็บ น้ำยาบ้วนปาก ยาระงับกลิ่นผ้า) ก็เป็นสารที่พบได้ตามธรรมชาติทั้งสิ้น |
• | การประกาศว่าได้รับการรับรองตามมาตรฐานหรือข้อกำหนดที่อ้างอิงจาก ISO 26000 ทั้งที่มิใช่มาตรฐานสำหรับนำไปใช้หรือนำมาพัฒนาเป็นข้อกำหนดอ้างอิงเพื่อการรับรอง |
• | การแสดงให้เห็นถึงการลงทุนในเทคโนโลยีระบบบำบัดของเสียที่เหนือกว่ามาตรฐาน แต่กลับมิได้เปิดใช้งาน หรือมิได้บำบัดให้ได้ดีกว่าดังที่ประกาศ |
• | การบิดเบือนข้อมูลในรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตลอดจนรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ปรากฏเฉพาะส่วนที่ส่งผลบวกต่อองค์กร |
ในช่วงเดือนมีนาคมนี้ สถาบันไทยพัฒน์และเครือเนชั่นได้จัดสัปดาห์ กิจกรรม 7 อุปนิสัยสร้างโลกเขียว บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ค (on.fb.me/green_ocean) และทวิตเตอร์ (twitter.com/green_ocean) โดยจะมีของรางวัลประจำทุกสัปดาห์ให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมไปจนถึงเดือนเมษายนนี้
ในสัปดาห์นี้จะเป็นการเปิดรับไอเดีย “REDUCE” เพื่อลดการใช้ทรัพยากร ให้เขียนเล่าวิธีการช่วยลดโลกร้อนในแบบของคุณ โดยไอเดียใดได้รับการกด like-ถูกใจ มากที่สุด จะได้รับรางวัลประจำสัปดาห์ เป็น Cental Gift Voucher มูลค่า 500 บาท
ท่านที่สนใจและมีวิธีการลดการใช้ทรัพยากรแบบเก๋ๆ อย่าพลาดเข้าร่วมกิจกรรมกันนะครับ
[Original Link]