Green Ocean Strategy

(www.greenoceanstrategy.org)

เปิดตัวองค์กรต้นแบบ Green Ocean Strategy

โตด้วยธรรมาภิบาลสีเขียว

สถาบันไทยพัฒน์ เผยงานวิจัยกลยุทธ์น่านน้ำสีเขียว (Green Ocean Strategy) กับกรณีศึกษาจากองค์กรต้นแบบ เอสซีจี บางจากปิโตรเลียม และพฤกษาเรียลเอสเตท กรุยทางสู่การสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการดำเนินธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของตลาดที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการตอบสนองต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความห่วงใยในความปลอดภัย สุขอนามัย และคุณภาพชีวิต ภายใต้กระแสโลก ที่เน้นการบริโภคอย่างยั่งยืน โดยมี บมจ. เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น (เอ็นบีซี) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ในฐานะ Green Ocean Strategic Partner ทำหน้าที่สื่อสารกลยุทธ์น่านน้ำสีเขียวสู่สาธารณะ เพื่อร่วมสร้างการเติบโตของธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง


นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวถึงแนวทางของกระทรวงฯ ที่มุ่งสู่ Green Industry ในโอกาสที่เป็นประธานเปิดงานวันนี้ (22 ธันวาคม 2553) ว่า ยุทธศาสตร์ของกระทรวงฯ ในปี 2554 จะเป็น “ปีแห่งอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ และการเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว” และทิศทางอุตสาหกรรมประเทศไทยจากนี้ไป จะต้องว่าด้วยเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม มีการบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล มีการเปิดเผยข้อมูล พร้อมกับส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชนในการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาร่วมกัน

นั่นหมายถึง การปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวทันโลกยุค "Green Industry" หรือ อุตสาหกรรมสีเขียว ที่ซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างมั่นคงยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และชุมชนนั้น เป็นเรื่องเดียวกันกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวถึงที่มาแนวคิด Green Ocean Strategy ว่า ในน่านน้ำสีแดง ธุรกิจต้องเชือดเฉือนกันนำเสนอคุณค่าให้เหนือกว่าคู่แข่งขัน (Beating Value) ถัดมาเมื่อห้าปีที่แล้ว กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม (Blue Ocean) ก็ได้ถูกคิดค้นขึ้นโดยคำนึงถึงการสร้างตลาดใหม่ หรือการสร้างและยึดอุปสงค์ใหม่ รวมทั้งการมุ่งเน้นที่จะยกระดับการเติบโตด้วยการสร้างนวัตกรรมทางคุณค่า (Innovating Value) เพื่อหลีกหนีสมรภูมิการแข่งขันในแบบ Red Ocean

อย่างไรก็ดี สถานะของตลาดแบบ Blue Ocean ก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้นาน เมื่อผู้เล่นหน้าใหม่ต่างเห็นโอกาสเดียวกันและกระโจนเข้าสู่ตลาดใหม่ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ไม่ด้อยไปกว่ารายเดิม จนกลายเป็น Red Ocean ในที่สุด

กระแส CSR ที่สามารถตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันทางธุรกิจ ภายใต้กรอบการพัฒนาความยั่งยืนทางคุณค่า (Sustaining Value) ให้คงอยู่กับธุรกิจในระยะยาว ด้วยการเติมองค์ประกอบทางด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม

การนำกลยุทธ์ Green Ocean มาใช้ในธุรกิจ จะเป็นการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางคุณค่าที่พัฒนาขึ้นจากกลยุทธ์ Blue Ocean ให้มีระยะห่างเหนือผู้เล่นหน้าใหม่ และเป็นกลยุทธ์ที่ใช้รักษาฐานที่มั่นของผลิตภัณฑ์ในส่วนแบ่งตลาดแบบ Red Ocean ให้มีความแข็งแกร่งเหนือคู่แข่งยิ่งขึ้น

กลยุทธ์ Green Ocean แบ่งได้เป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ เรื่องของ “ระบบ” ที่กำกับดูแลด้วยธรรมาภิบาลสีเขียว (Green Governance) และเรื่องของ “คน” ที่ปลูกสร้างด้วยอุปนิสัยสีเขียว (Green Habits)

สำหรับเรื่องธรรมาภิบาลสีเขียว สามารถที่จะจำแนกออกได้เป็น 3 หมวดใหญ่ๆ ได้แก่ ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร (Resource Efficiency) ภาระรับผิดชอบในกระบวนการ (Process Accountability) และประสิทธิผลในตัวผลิตภัณฑ์ (Product Effectiveness) ส่วนการสร้าง 7 อุปนิสัยสีเขียวตามแนวคิด Green Ocean ประกอบด้วย Rethink - Reduce - Reuse - Recycle - Recondition - Refuse - Return

ด้านนายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง สถาบันไทยพัฒน์ และ เอ็นบีซี ว่าเป็นมิติใหม่ของการร่วมทำงานระหว่างองค์กรสื่อกับสถาบันวิชาการ เพื่อเผยแพร่แนวคิด แนวปฎิบัติที่เป็นประโยชน์กับภาคธุรกิจ ตลอดจนเผยแพร่กรณีศึกษาขององค์กรธุรกิจต้นแบบ เพื่อเป็นตัวอย่างให้องค์กรอื่นๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวาง เช่นเดียวกับที่นายพีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้อำนวยการสำนักงานสำนึกรักบ้านเกิด บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น กล่าวถึงการให้การสนับสนุนสื่อ SMS วิทยุร่วมด้วยช่วยกัน Happy Station ฯลฯ ในการร่วมผลักดันให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ สังคมสีเขียว (Green Society) ตามแนวทางกลยุทธ์น่านน้ำสีเขียว

งานในครั้งนี้ ยังได้มีการเสวนาในหัวข้อการกำกับดูแลองค์กรด้วยธรรมาภิบาลสีเขียว (Green Governance) ซึ่งมีการนำเสนอกรณีศึกษาจากองค์กรต้นแบบ 3 แห่ง โดยนายวัฒนา โอภานนท์อมตะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานด้านบริหารและเทคโนโลยีสารสนเทศ บมจ.บางจากปิโตรเลียม ได้เปิดเผยถึงแนวคิดและการบริหารธุรกิจบางจากฯ ว่า เป็นบริษัทของคนไทย ที่มีวัฒนธรรมการดำเนินธุรกิจที่ต้องการ “พัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคม” มาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทฯ จากวัฒนธรรมดังกล่าวส่งผลต่อกรอบการดำเนินธุรกิจโดยในด้านการผลิต บริษัทฯจะมีการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาด เพื่อผลิตน้ำมันคุณภาพสะอาดที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าน้ำมันทั่วไป โดยเริ่มจากการผลิตและจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซล การดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 38 เมกะวัตต์ และมีแผนลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 120 เมกะวัตต์ จากพลังงานสะอาดที่ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ 35,000 ตันต่อปี และลดการนำเข้าเชื้อเพลิงถ่านหินได้ถึง 40,000 ตันต่อปี

ด้านนายเมธา จันทร์แจ่มจรัส กรรมการ และรองกรรมการผู้จัดการ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินการก่อสร้างโครงการด้วยการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ คำนึงถึงประสิทธิภาพสูงสุดของสินค้าและบริการ ตลอดจนกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการนำเทคโนโลยีการก่อสร้างด้วยชิ้นส่วนคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูป หรือที่เรียกว่า Pruksa Precast ที่ช่วยป้องกันและลดมลภาวะ ทั้งปัญหาขยะที่เกิดจากการก่อสร้าง มลภาวะทางเสียง ฝุ่น ตลอดจนปัญหาการจราจรในการก่อสร้าง รวมถึงการนำเศษวัสดุบางส่วนกลับมาใช้ใหม่ ทั้งนี้ บ้านที่ปลูกสร้างด้วยเทคโนโลยี Pruksa Precast ยังได้คุณภาพมาตรฐานมากกว่าระบบการก่อสร้างแบบทั่วไป ช่วยลดระยะเวลาในการก่อสร้าง ทำให้ส่งมอบที่อยู่อาศัยได้อย่างรวดเร็ว และมีผลต่อความพึงพอใจของลูกค้า

นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เครือซิเมนต์ไทย กล่าวว่า เอสซีจี ดำเนินธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคควบคู่กับการเติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นที่ต้องการของลูกค้า และมีคุณภาพระดับโลกด้วยการวิจัยและพัฒนาสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้ฉลาก “SCG eco value” ซึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตจากกระบวนการพิเศษที่ต่างจากกระบวนการปกติ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย และดีกว่าสินค้าทั่วไปในประเภทเดียวกัน เช่น ผลิตภัณฑ์กระดาษพิมพ์เขียนเกรดพรีเมี่ยม Idea Green ที่ใช้เยื่อ EcoFiber ที่ได้จากเศษวัสดุเหลือทิ้งจากผลผลิตทางการเกษตร (อาทิ ชานอ้อย ฟางข้าว หรือกระดาษรีไซเคิล) ซึ่งสามารถลดการใช้ต้นไม้ลงถึงร้อยละ 30 ผลิตภัณฑ์คอนกรีตลานตากข้าวซีแพค ที่เป็นคอนกรีตชนิดพิเศษมีความสามารถในการดูดความร้อนทำให้ข้าวแห้งเร็วขึ้น ลดเวลาในการตาก ทดแทนการอบข้าวด้วยเครื่องจักร ช่วยประหยัดพลังงาน และค่าไฟฟ้าจากการใช้เครื่องอบข้าวได้ถึงร้อยละ 15 ผลิตภัณฑ์ปูนซิเมนต์ตราเสือ ที่ผลิตจากกระบวนการซึ่งใช้เชื้อเพลิงทดแทนอย่างน้อยร้อยละ 15 และใช้ลมร้อนเหลือทิ้งมาผลิตไฟฟ้าอย่างน้อยร้อยละ 15

สำหรับรายละเอียดของกลยุทธ์น่านน้ำสีเขียว และกรณีศึกษาจากองค์กรต้นแบบ สามารถติดตามได้จากงานวิจัยของสถาบันไทยพัฒน์ สื่อในเครือเอ็นบีซี และข่าวสารจากดีแทค หรือทางเว็บไซต์กลยุทธ์น่านน้ำสีเขียว greenoceanstrategy.org


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
สถาบันไทยพัฒน์ ปิยเลขา ไหล่แท้ โทร 02 930 5227