ปฐมบท
กระแสโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เป็นประเด็นทาง CSR มานานระยะหนึ่งแล้ว และก็จะยังเป็นประเด็นที่อยู่คู่กับสังคมโลกไปอีกนานจวบจนสิ้นอายุขัยของคนรุ่นปัจจุบัน ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงสองปีที่ผ่านมา ยังเป็นปัจจัยหนุนเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลจาก PSB Survey on Sustainability in the 2009 Recession ระบุว่า นอกจากปัจจัยในเรื่องราคา คุณภาพ ความสะดวกสบาย และคุณธรรมในการประกอบการแล้ว ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือกระแสสีเขียว (Green) ช่วงหลังวิกฤต เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 15 ได้กลายเป็นปัจจัยที่สาม (Third Factor) ในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคที่มีความห่วงใยในความปลอดภัย สุขอนามัย และคุณภาพชีวิต รองจากเรื่องราคาและคุณภาพ ส่งผลให้ธุรกิจต้องปรับสายผลิตภัณฑ์และบริการรวมทั้งกระบวนการผลิตขององค์กรเพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมในฝั่งอุปสงค์ที่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นด้วย
ด้วยอุปสงค์สีเขียว (Green Demand) นี้ ได้ผลักดันให้องค์กรธุรกิจต้องปรับปรุงและพัฒนากระบวนการดำเนินงาน สายผลิตภัณฑ์ รวมทั้งบริการต่างๆ ที่อิงกับ Green Concept เพิ่มขึ้น โดยองค์กรหลายแห่งได้พยายามผนวกความเป็นสีเขียวเข้าในฝั่งอุปทานให้ได้ตลอดทั้งสาย (Greening the Supply Chain) เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Product) สู่ตลาด
ผู้ประกอบการหลายแห่งได้ให้ความสนใจกับการใช้ฉลากคาร์บอนกับผลิตภัณฑ์ของตน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการรับผิดชอบต่อสังคมและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร ควบคู่ไปกับประโยชน์ที่ได้จากการลดต้นทุนการผลิตจากการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น
แนวคิดสีเขียวจะถูกนำมาใช้ในกระบวนงานต่างๆ อาทิ Green Design, Green Purchasing, Green Logistics, Green Meeting, Green Marketing, Green Services ฯลฯ รวมถึงการนำขยะหรือของเสียจากกระบวนการบริโภคกลับมาใช้ใหม่ด้วยการแปรรูปหรือแปรสภาพให้กลายเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตของภาคธุรกิจภายใต้หลักการ Greening Waste และคาดการณ์ว่าธุรกิจที่จะเติบโตมากในอนาคต คือ Green Business หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม