Green Ocean Strategy

(www.greenoceanstrategy.org)

คุณคือพลัง...เศรษฐกิจสีเขียว

วรณัฐ เพียรธรรม

วันที่ 5 มิถุนายนนี้ จะเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก โดยปีนี้ ถือเป็นปีพิเศษในวาระครบรอบ 40 ปี นับตั้งแต่ที่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กำหนดให้วันที่ 5 มิ.ย. ของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก โดยในปีนี้ ได้กำหนดให้มีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวันสิ่งแวดล้อมโลกที่ประเทศบราซิล ซึ่งกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน (UN Conference on Sustainable Development - UNCSD) หรือ Rio+20 ในวันที่ 20-22 มิ.ย. ที่จะถึงนี้ด้วย


ประเทศบราซิลนี้ ได้เคยเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวันสิ่งแวดล้อมโลกในปี 2535 ซึ่งก็เป็นปีเดียวกับที่มีการจัดประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา หรือที่รู้จักกันดีในนามการประชุมสุดยอดของโลก (Earth Summit) หรือ การประชุมริโอ (Rio Conference) ที่นี่เมื่อ 20 ปีที่แล้วเช่นกัน

คำขวัญของวันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้ คือ “Green Economy : Does it include YOU?” โดยมีเป้าหมายในการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมภายใต้ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งในการประชุม Rio+20 ก็ใช้ธีมหลักเป็นเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวเช่นกันอีก

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ได้ให้นิยามเศรษฐกิจสีเขียวว่า “เป็นระบบเศรษฐกิจที่จะส่งผลยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ และเสริมสร้างความเสมอภาคทางสังคม ลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและการขาดแคลนทรัพยากร” ขอบเขตเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวจึงไม่จำกัดอยู่เพียงระบบเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

หากมองย้อนดูความเคลื่อนไหวเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวในประเทศไทย พบว่า ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555 – 2559) ได้มีการสอดแทรกเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวในยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ อาทิ การสร้างความเป็นธรรมในสังคม การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน ความเข้มแข็งในภาคเกษตร ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี การที่จะทำให้แผนงานดังกล่าวสำเร็จลุล่วง จำต้องสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในภาครัฐจำเป็นต้องมีการปรับนโยบายในฝ่ายบริหารให้ความมีความสอดคล้องกับแผนงานดังกล่าวอย่างเหมาะสมเพิ่มมากขึ้น ในภาคเอกชนจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ที่สามารถปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่แสวงหากำไรโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนในภาคครัวเรือน ก็จำต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการอุปโภคบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นด้วย

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรมได้นั้น ในแต่ละภาคส่วนคงต้องหันมาทบทวนกระบวนการต่างๆ ของตนเอง รวมทั้งกระบวนการที่มีปฏิสัมพันธ์กับภาคส่วนอื่นๆ อย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว ตามคำขวัญที่ว่า Green Economy : Does it include YOU ? "คุณคือพลัง สร้างสรรค์เศรษฐกิจ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม"


[ประชาชาติธุรกิจ]