7 อุปนิสัย สร้างโลกเขียว
ในกลยุทธ์น่านน้ำสีเขียว หรือ Green Ocean Strategy จำแนกองค์ประกอบของกลยุทธ์ออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ เรื่องของ “ระบบ” ที่กำกับดูแลด้วยธรรมาภิบาลสีเขียว (Green Governance) และเรื่องของ “คน” ที่ปลูกสร้างด้วยอุปนิสัยสีเขียว (Green Habits)
อุปนิสัยสีเขียวจะช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะวิกฤตภาวะโลกร้อนจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอันเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ เห็นได้จากพิบัติภัยแผ่นดินไหว สึนามิที่ญี่ปุ่น สร้างให้เกิดวิกฤตนิวเคลียร์และการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี หรือสถานการณ์ฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันใน 5 จังหวัดภาคใต้ ที่ก่อให้เกิดน้ำท่วม ดินถล่ม การจราจรถูกตัดขาด หรือแม้กระทั่งความกดอากาศสูงที่แผ่จากประเทศจีน จนทำให้เกิดอากาศหนาวในฤดูร้อนเป็นช่วงๆ
ความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อช่วยเยียวยาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มิให้เป็นภัยอันตรายต่อคนรุ่นเรา รวมทั้งต้องพิทักษ์ระบบนิเวศให้ยืนยาวสืบต่อไปยังคนรุ่นหลัง ด้วยอุปนิสัยสีเขียวภายใต้กลยุทธ์น่านน้ำสีเขียว ประกอบด้วย 7 อุปนิสัย ได้แก่
Rethink ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อเรามีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง กระแสการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมจะไม่เกิดผลสำเร็จใดๆ หากผู้รับฟังข้อมูลไม่ตระหนักว่าตนเองต้องเปลี่ยนแปลง การรอคอยให้ผู้อื่นทำไปก่อน แล้วค่อยคิดจะทำนั้น จะทำให้ท่านได้รับการดูแลจากธรรมชาติเป็นคนท้ายๆ
Reduce โลกร้อน เมื่อเราเผาผลาญทรัพยากรเกินขีดจำกัดที่ธรรมชาติจะหมุนเวียนได้ทัน โลกบูด เพราะเราบริโภคเกินจนเกิดขยะและของเสียที่ไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ทัน ช่วยกันลดการใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น และช่วยกันลดการบริโภคเพื่อไม่ให้เกิดขยะและของเสียอย่างที่เป็นอยู่
Reuse สำรวจของที่ซื้อมาแล้วเพิ่งใช้เพียงหนเดียวว่า สามารถใช้ประโยชน์ซ้ำได้หรือไม่ หาวิธีการใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำ หรือหลีกเลี่ยงบรรจุภัณฑ์ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง การซื้อของมีคุณภาพที่ราคาสูงกว่า แต่ใช้งานได้ทนนาน จะดีกว่าซื้อของที่ด้อยคุณภาพในราคาถูก แต่ใช้งานได้เพียงไม่กี่ครั้ง
Recycle เป็นการนำวัสดุที่หมดสภาพหรือที่ใช้แล้วมาปรับสภาพเพื่อนำมาใช้ใหม่ เริ่มลงมือปรับแต่งของใช้แล้วในบ้านให้เกิดประโยชน์ใหม่ ช่วยกันคัดแยกขยะหรือวัสดุเหลือใช้ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้เองมอบให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดีกว่าทิ้งหรือเก็บไว้เฉยๆ โดยเปล่าประโยชน์
Recondition ของหลายอย่างสามารถปรับแต่งซ่อมแซมแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ดังเดิม พยายามใช้ของให้ถูกวิธีเพื่อหลีกเลี่ยงการชำรุดเสียหายก่อนเวลาอันควร และหมั่นตรวจสอบและปฏิบัติตามตารางการบำรุงรักษา เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น
Refuse การปฏิเสธเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดไม่ให้ถูกนำมาใช้หรือถูกทำลายเร็วขึ้น และเพื่อให้เวลาธรรมชาติในการฟื้นสภาพตัวเองตามระบบนิเวศ เริ่มจากสิ่งนอกตัว เช่น สินค้าฟุ่มเฟือย สิ่งที่เราต้องเติมใส่ร่างกาย เช่น อาหารนำเข้า จนถึงสิ่งที่อยู่ข้างในกาย คือ จิตใจ เพราะเมื่อจิตร้อน กายก็ร้อน สิ่งรอบข้างก็ได้รับกระแสร้อน สุดท้ายทั้งโลกก็ร้อนขึ้น
Return หน้าที่หนึ่งของมนุษย์ คือ การตอบแทนคืนแก่โลก ใครใช้ทรัพยากรใดจากธรรมชาติเยอะ ก็ต้องคืนทรัพยากรนั้นกลับให้มากๆ พยายามอย่าติดหนี้โลก เพราะวันหนึ่งโลกจะมาทวงหนี้จากท่าน ตราบที่ท่านยังต้องเวียนว่ายตายเกิดบนโลกใบนี้
[Original Link]