Green Ocean Strategy

(www.greenoceanstrategy.org)

สัมภาษณ์พิเศษ


ก้าวต่อไปในเส้นทาง CSRเลือกไม่ได้ฟอกเขียวไม่รอดถึงตอนนี้หลายคนคงตระหนักถึงเรื่องที่ว่า การได้มาซึ่งกำไรสูงสุดขององค์กรธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงวิธีการว่าจะทำลายวิถีที่ดีงามของสังคม ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือทำลายคุณค่าทางด้านจิตใจหรือไม่นั้น ได้กลายเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายของสังคม

เป็นหนทางที่ถูกตรวจสอบและเรียกร้องจากหลายฝ่าย ไม่เฉพาะกลุ่มบุคคลใด แต่กลายเป็นเรื่องของสังคมโลก

เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นสุดท้ายจะต้องมีองค์กรหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเข้ามารับผิดชอบ ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นภาครัฐที่จะต้องใช้ภาษีของประชาชนในการเยียวยาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ชมรมไทยพัฒน์ ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2542 ต่อมาในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2544 ได้เปลี่ยนสถานภาพมาเป็น สถาบันไทยพัฒน์ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

บทบาทของสถาบันไทยพัฒน์ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ได้เปิดเผยกับ “สยามธุรกิจ” ถึงบทบาทของสถาบันไทยพัฒน์ และแนวโน้มของการทำ CSR ในประเทศไทยในอนาคตว่า ในปัจจุบันสถาบันไทยพัฒน์มีแนวทางในการให้บริการสังคมอยู่ 3 แนวทาง คือ การวิจัย การฝึกอบรม และการให้คำปรึกษา

ในส่วนการวิจัยนั้นในปีที่ผ่านมา สถาบันไทยพัฒน์ได้ทำวิจัยให้แก่ Organisation for Economic Cooperation and Development (OECD) ในหัวข้อเรื่อง “Responsible Business Conduct in Thailand” และได้นำเสนอผลการวิจัยในเวทีประชุมภูมิภาคเรื่อง Corporate Responsibility ในหัวข้อ “Why Responsible Business Conduct Matters”

ด้านการฝึกอบรมได้มีการทำโครงการให้ความรู้ในแบบต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยมีโครงการ CSR CAMPUS ที่เป็นการออกเดินสายทั่วประเทศจัดค่ายให้ความรู้เกี่ยวกับ CSR ให้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการ นักเรียนและนิสิตนักศึกษา มีสถาบันอุดมศึกษามาเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 120 แห่ง และในปีนี้เป้าหมายของโครงการจะอยู่ที่โรงเรียนในสังกัด สพฐ.

นอกจากนี้ ยังมีโครงการหลัก คือ CSR DAY ซึ่งสถาบันไทยพัฒน์ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการจัดงาน เพื่อแก้ปัญหาที่พนักงานในองค์กรไม่ค่อยเข้าร่วมในกิจกรรม CSR ให้พนักงานได้เข้าใจว่า CSR ไม่ใช่ภาระหรืองานเพิ่ม แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าร่วมและในท้ายที่สุดทุกคนจะได้ประโยชน์ร่วมกัน

ไม่เพียงแต่ในระดับพนักงานเท่านั้น เมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ไทยพัฒน์ยังได้ต่อยอดจากโครงการ CSR DAY มาเป็นโครงการ CSR Day for Directors ซึ่งมุ่งเป้าไปที่ผู้บริหารองค์กรให้เกิดความเข้าใจความสำคัญของการทำ CSR ปัจจุบันมีองค์กรที่เข้าร่วมกว่า 18 แห่งแล้ว

“หลายองค์กรเรียกร้องว่าถ้าทำพนักงานอย่างเดียว อยากให้แตะผู้บริหารด้วย เพราะบางองค์กรผู้บริหารยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้”

ด้านการให้คำปรึกษา สถาบันไทยพัฒน์ได้เริ่มดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนแม่บท CSR ให้แก่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจจำนวน 4 แห่งและองค์กรธุรกิจจำนวน 3 แห่งเพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร

สำหรับแนวทางการดำเนินงานในปีหน้าของสถาบันไทยพัฒน์นั้นก็ยังคงเน้นภารกิจ 3 อย่างที่กล่าวมาอยู่ แต่จะมีการพัฒนาโครงการในลักษณะของการหาแนวร่วมมากขึ้น เช่น เรื่องกลยุทธ์ Green Ocean ที่ได้เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการร่วมมือกับ บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น (NBC) ในการสื่อสารกลยุทธ์การตลาดแบบ “พัฒนาความยั่งยืนทางคุณค่า” (Sustaining Value) เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมทั้งตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กร แนวโน้ม CSR ในอนาคต

ดร.พิพัฒน์ ให้ความเห็นว่า การทำ CSR จะไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่จะเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรจำเป็นต้องทำเนื่องจากกระแสกดดันไม่ได้มาจากสังคมเท่านั้น แต่ยังมาจากตัวธุรกิจเองด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 3-5 ปีข้างหน้านี้ จะทำให้อาเซียนเปลี่ยนจากการรวมตัวและร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างหลวมๆ ไปสู่การเป็นนิติบุคคล

“นี่คือแรงผลักดันที่ไม่ได้เกิดจากสังคมแล้ว แต่เกิดจากตัวธุรกิจ ว่าถ้าคุณไม่ทำ คุณอาจจะอยู่ในสาย supply chain ไม่ได้ หรือว่าค้าขายไม่ได้ ซึ่งก็สื่อให้เห็นว่ามันไม่ใช่ option ที่ทำ ไม่ทำก็ได้อีกแล้ว”

ยกตัวอย่าง เมื่อธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น ปตท. ปูนซีเมนต์ หรือ ซีพี จะไปทำตลาดหรือไปตั้งโรงงานในต่างประเทศ ก็ต้องทำให้ประชาชนของประเทศนั้นๆ ให้การยอมรับเสียก่อน ซึ่งเรื่องการยอมรับนี้ก็ต้องพึ่งการทำ CSR แต่การทำ CSR เพียงตัวบริษัทเองนั้นยังไม่เพียงพอเนื่องจากการที่บริษัทเหล่านี้จะแสดงตัวว่า ตนมีความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นจะต้องรวมถึงบริษัทต่างๆ ในสาย supply chain ของบริษัทอีกด้วย

ดังนั้นบริษัทต่างๆ ในสาย supply chain ก็จะถูกบังคับให้ต้องทำ CSR โดยปริยายเพื่อรักษาสถานะให้ตนสามารถคงอยู่ในสาย supply chain นั้นได้ต่อไป ซึ่งตอนนี้ก็มีบางบริษัทที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่น Toyota ที่ประกาศชัดเจนว่าใน 1-8 ปีข้างหน้า supply chain ทั้งหมดจะต้องเป็นแบบ green ส่งผลให้ดีลเลอร์ในไทยเริ่มขยับตัวแล้ว โดยตั้งเป้าให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 14000 ภายในปี 2011 หรือ บริษัท Thai Oil ที่ประกาศเปลี่ยนเงื่อนไขการซื้อของบริษัทที่จะมีการดูเรื่อง CSR มากขึ้น

ดังนั้น ในปี 2554 ที่จะถึงนี้แนวโน้มการทำ CSR จะขยายตัวมากขึ้นในกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง และ SME เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่นั้นจะเป็นการทำ CSR ในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรับกับการขยายกิจการ กระแส Green Marketing

ในเรื่องนี้ ดร.พิพัฒน์ ระบุว่า หากทำจริงคงไม่มีปัญหา แต่มีศัพท์เรียกว่า Green wash หรือการฟอกเขียว ซึ่งตัวอย่างเกิดขึ้นในเมืองนอก ซึ่งบอกว่าเป็นสินค้า organic แต่พอตรวจสอบแล้วพบว่าไม่จริง จึงมีการเรียกร้องกันเกิดขึ้น

“อันนี้ก็คือการทำ green marketing แบบไม่จริงใจ แบบต้องการผลประโยชน์ฝ่ายเดียว ซึ่งผู้บริโภคก็ไม่มีความสามารถที่จะเข้าไปตรวจ ดังนั้นผู้ที่ทำ green marketing ก็ต้องสำเหนียกว่าการโฆษณาไปแบบนี้แล้วความจริงเป็นอีกอย่าง ภาพลักษณ์ หรือ Branding ที่สร้างมาจะเสียหายไปหมด หรือบางแห่งตัวธุรกิจทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น ปล่อยน้ำเสีย แต่ก็มีการพยายามสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นบริษัทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปปลูกป่า สร้างวิถีชุมชน อันนี้ก็ถือว่าไม่ได้มีการจริงใจต่อชุมชน”

ในเมืองไทยมีหลายหน่วยงานที่รับหน้าที่ดูแลในเรื่องดังกล่าว อาทิ อบก. ดูเรื่องลดคาร์บอนว่าลดจริงขนาดไหน ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า carbon reduction level ฝั่งสมอ. มีสลากเขียวดูว่าตัวผลิตภัณฑ์ได้ใช้ทรัพยากรหรือพลังงานที่ต่ำ และมีคุณภาพไม่แพ้ผลิตภัณฑ์ในสายเดียวกัน เป็นต้น

แผนงานของไทยพัฒน์ในปีหน้า
สถาบันไทยพัฒน์ยังเน้นการวิจัย ฝึกอบรม และให้คำปรึกษา แต่จะแตกต่างจากเดิม คือ จะพัฒนาโครงการในลักษณะที่เป็นแนวร่วมมากขึ้น หมายความว่าอาจจะไม่ได้ทำคนเดียวโดยสถาบันไทยพัฒน์ ทั้งในเรื่องการฝึกอบรม การวิจัย และการพัฒนาโครงการ

“อย่างเช่นที่ผมเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเรื่อง green ocean เราเริ่มที่จะแสวงหาความร่วมมือกับสื่อ สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจ อันนี้ก็จะเป็น collective action หรือทำงานแบบวิถีกลุ่ม หมายความว่าเชิญชวนองค์กรหลายแห่งมาทำงานร่วมกัน อย่างเช่น green print นี่ก็เป็นตัวอย่างได้คือ องค์กรหนึ่งมีเทคโนโลยี มี know how มา ริเริ่มสื่อก็เข้าไปร่วม การเข้าไปแบบนี้ก็เป็น collective action”

ในส่วนของสถาบันไทยพัฒน์ ตอนนี้ก็มีเครือข่ายภาคธุรกิจหลายร้อยแห่งที่ได้มีโอกาสเข้าไปทำกิจกรรมด้วยกัน อาจจะเป็นกิจกรรมรายสาขา ทั้งธุรกิจพลังงาน อุปโภคบริโภค หรือธุรกิจบริการ เช่น สถาบันการเงิน หรืออสังหาริมทรัพย์

เห็นเช่นนี้แล้ว คนที่เริ่มขยับ อาจต้องกลับมาทบทวนใหม่ หรือคนที่กำลังเริ่มก้าวใหม่ คงต้องวางแผนให้ดี เมื่อวันที่เราได้รู้ว่า CSR ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะหลอกขายของกันเหมือนเก่า และไม่ใช่เรื่องที่รู้กันแค่บ้านเรา แต่เป็นสิ่งที่ประชาคมโลกกำลังจับตา


[Original Link]